——ตั้งแต่วิกฤตการณ์ฟองสบู่แตกในประเทศไทย ในปี พ.ศ. 2550 รัฐบาลได้พยายามฟื้นฟูสภาวะเศรษฐกิจของประเทศ ด้วยการส่งเสริมสังคมไทยให้เป็นสังคมผู้ประกอบการมากขึ้น โดยส่งเสริม ผู้ประกอบการใหม่ (New Entrepreneurs) ส่งเสริมให้วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมมีความเข้มแข็งมั่นคง มีคุณภาพเพื่อเป็นรากฐานสำคัญต่อเศรษฐกิจส่วนรวมและเศรษฐกิจชุมชน กลยุทธ์สำคัญในการเสริมสร้าง ผู้ประกอบการใหม่ หรือก่อตั้งบริษัทใหม่ (Start – Up Company) เกิดขึ้นผ่านหน่วยบ่มเพาะวิสาหกิจในสถาบันอุดมศึกษา (University Business Incubator, UBI) แหล่งความรู้ในด้านต่าง ๆ ทั้งวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ศิลปะ การบริหาร การจัดการ ที่เกิดจากผลงานวิจัยและพัฒนาของอาจารย์ นักวิจัยในสถาบันอุดมศึกษา ซึ่งอาศัยความพร้อมในด้านสถานที่ ทั้งสำนักงาน ห้องปฏิบัติการ เครื่องมือ เครื่องจักร สิ่งอำนวยความสะดวก (Facilities) ต่าง ๆ ของสถาบันอุดมศึกษาในการสนับสนุนกระบวนการบ่มเพาะได้อย่างมีประสิทธิภาพ
——ด้วยแนวคิดดังกล่าว สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) จึงได้ดำเนินโครงการเสริมสร้างนิสิต นักศึกษา และบัณฑิตให้เป็นผู้ประกอบการขนาดเล็กรุ่นใหม่ โดยมีแนวคิดหลักในการพัฒนานิสิต นักศึกษาและบัณฑิตว่างงานในการเป็นผู้ประกอบการขนาดเล็ก ผู้ประกอบการอิสระ เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศและลดปัญหาการว่างงาน โดยการสนับสนุนสถาบันอุดมศึกษาที่มีความพร้อมให้สามารถจัดตั้งหน่วยบ่มเพาะวิสาหกิจ เพื่อสร้างผู้ประกอบการใหม่ที่มีศักยภาพต่อไป
——มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ตระหนักถึงความสำคัญในเรื่องดังกล่าว ประกอบกับศักยภาพความพร้อมทางด้านสถานที่ อาคาร เครื่องมือ และอุปกรณ์ รวมทั้งบุคลากรซึ่งเพียบพร้อมด้วย ความรู้และประสบการณ์หลากหลายวิชา ส่งเสริมให้มหาวิทยาลัยฯ มีจุดแข็ง สามารถรองรับการดำเนิน กิจกรรมบ่มเพาะวิสาหกิจได้ครบวงจร ทั้งยังมีประสบการณ์ที่เคยดำเนินการศูนย์บ่มเพาะธุรกิจขนาดย่อม ร่วมกับ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมแล้วจึงได้จัดตั้ง “หน่วยบ่มเพาะวิสาหกิจ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (Rajamangala University of Technology Thanyaburi – University Business Incubator, RMUTT – UBI)” ขึ้น โดยได้รับการอนุมัติจัดตั้งจากที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ครั้งที่ 7/2550 วันที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ.2550 หน่วยบ่มเพาะวิสาหกิจ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี เป็นหน่วยงานภายใน ที่จัดตั้งขึ้น โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.นำยุทธ สงค์ธนาพิทักษ์ อธิการบดีเป็นประธานคณะกรรมการบริหาร หน่วยบ่มเพาะวิสาหกิจ มทร.ธัญบุรี
กลยุทธ์ระดับองค์กร (Corporate Level Strategy)
– กำหนดนโยบายการดำเนินงานหน่วยบ่มเพาะวิสาหกิจ มทร.ธัญบุรี แต่งตั้งคณะกรรมการและ ผู้รับผิดชอบชัดเจน
– กำหนดวิสัยทัศน์ พันธกิจ แผนกลยุทธ์ที่เป็นรูปธรรม มีการนำสู่การปฏิบัติ ติดตามผลและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
– ประสานงานกับภาคเอกชน สถาบันการเงิน อุตสาหกรรมต่าง ๆ และสถานศึกษาอื่น เพื่อสร้างเครือข่ายหน่วยบ่มเพาะวิสาหกิจร่วมกัน
– มีโครงสร้างการบริหารงานหน่วยบ่มเพาะวิสาหกิจที่มีผู้รับผิดชอบในแต่ละตำแหน่งและดำเนินการอย่างเป็นระบบชัดเจน
– มีนโยบายพัฒนาอาจารย์ นักศึกษา ศิษย์เก่า โดยส่งเสริมให้มีการดำเนินการสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ เชิงพาณิชย์
กลยุทธ์ระดับธุรกิจ (Business Level Strategy)
– สามารถจัดตั้งหน่วยบ่มเพาะวิสาหกิจที่มีความหลากหลายวิชาชีพ โดยนำนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้มีที่ปรึกษาทั้งในส่วนของวิชาชีพและความรู้ทางด้านการบริหารจัดการซึ่งมีเวลาให้กับ ผู้ประกอบการ
– การมีนักศึกษาหลากหลายวิชาชีพจะทำให้มีนักศึกษาจากหลายคณะมาร่วมเป็นผู้ประกอบการให้หน่วยบ่มเพาะฯ ได้
กลยุทธ์ระดับปฏิบัติการ (Functional Level Strategy)
การบริหาร
– การบริหารจัดการหน่วยบ่มเพาะโดยนักบริหารงานมืออาชีพที่มีประสบการณ์ทางด้านธุรกิจและ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
– มีระบบการบริหารจัดการ การดำเนินงานกิจกรรมบ่มเพาะที่มีความคล่องตัว คำนึงถึงผลสัมฤทธิ์ตามตัวชี้วัดที่ตั้งไว้เป็นหลัก
การตลาด
– กลุ่มเป้าหมาย คือ บัณฑิต ศิษย์เก่า บุคลากรของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรีและบุคคลทั่วไป ที่มีความประสงค์จะเข้าร่วมหน่วยบ่มเพาะวิสาหกิจของมหาวิทยาลัยฯ
– วิสาหกิจเป้าหมาย นวัตกรรมด้านเทคโนโลยีวิชาชีพ เช่น การผลิตอุปกรณ์เครื่องมืออิเล็คทรอนิกส์เครื่องมือด้านการเกษตร งานนวัตกรรมด้านวิศวกรรมศาสตร์ เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ ซอร์ฟแวร์ งานด้านศิลปกรรมศาสตร์ การแปรรูปอาหาร การแพทย์แผนไทย พลังงานสิ่งแวดล้อม ฯลฯ
การผลิต/บริการ
– เน้นการผลิต/บริการที่เกิดจากการพัฒนาต่อยอดผลงานวิจัย ผลงานสร้างสรรค์ นวัตกรรม สิ่งประดิษฐ์ต่างๆ ที่มีศักยภาพสู่เชิงพาณิชย์ที่เกิดจากการสร้างสรรค์ของนักวิจัย บุคลากร นักศึกษา ศิษย์เก่าของมหาวิทยาลัยฯ โดยอาศัยเครือข่ายความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยกับสถานประกอบการในกลุ่มพันธมิตร ศิษย์เก่า เครือข่ายความร่วมระหว่างห้องปฏิบัติการ ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะ
– เน้นการผลิต/บริการที่เกิดจากการพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่ในห้องตลาดปัจจุบัน โดยอาจารย์ นักศึกษา บุคลากรของมหาวิทยาลัยฯ เชื่อมโยงกับความสนใจของผู้รับการบ่มเพาะที่จะดำเนินธุรกิจต่อไป
1 comment
ขนิษฐา ไตรรัตนาภิกุล
กรกฎาคม 4, 2013 at 7:58 am (UTC 0) Link to this comment
ขอทราบข่าวสารการอบรมของทางหน่วยงาน เมื่อมีการจัดอบรมในแต่ละครั้ง
ขอบคุณค่ะ